ประวัติ ของ ฌูอัน มิโร

ฌูอัน มิโร เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2436 ที่ปาซัดจาดัลแกรดิต (Passatge del Crèdit) เมืองบาร์เซโลนา แคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน บิดาเป็นช่างทองและช่างนาฬิกาชื่อ มิแก็ล มิโร อี อัดเซริอัส (Miquel Miró i Adzerias) ส่วนมารดาชื่อ ดูโลส ฟาร์รา อี อูรูมี (Dolors Ferrà i Oromí) มิโรใช้ชีวิตวัยเด็กในบาร์เซโลนา แม้เขาจะมีความสนใจศิลปะอยู่บ้างแต่ก็เข้าเรียนที่วิทยาลัยธุรกิจก่อนที่จะเข้าศึกษาในสถาบันวิจิตรศิลป์บาร์เซโลนา (The Barcelona École des Beaux-Arts) และสถาบันกาลิ (Académie Gali) แต่เรียนไปได้เพียงสามปี ในปี ค.ศ. 1910 เขาล้มป่วยด้วยไข้ไทฟอยด์อย่างรุนแรง ครอบครัวของเขาจึงย้ายไปอยู่ในชนบทที่มุนร็อดจ์ (Montroig) มิโรได้เริ่มวาดรูปหรือสร้างงานจิตรกรรมอย่างจริงจังที่บ้านใหม่นั้น[1]

ในปี ค.ศ. 1918 มิโรจัดแสดงผลงานของเขาขึ้นเป็นครั้งแรกที่ดัลเมากัล (Dalmau Gal) เป็นผลงานที่ได้รับความบันดาลใจ มากจากคติพื้นบ้านผสมกับกรรมวิธีของคติโฟวิสต์ (Fauvism; Fauves) เป็นคติทางศิลปะคติหนึ่งเกิดขึ้นในกรุงปารีสเมื่อ ค.ศ. 1905 ผลงานจิตรกรรมของคตินี้นิยมใช้สีสว่าง สดใส รุนแรง ให้ความสำคัญกับอารมณ์ จินตนาการ และความงาม ศิลปินที่มีชื่อเสียงในกลุ่มนี้มีหลายคน เช่น อ็องรี มาติส (ศิลปินชาวฝรั่งเศส) อ็องเดร เดอแร็ง (André Derain ศิลปินชาวฝรั่งเศส ค.ศ. 1880-1954) และดูฟี (Raoul Dufy ศิลปินชาวฝรั่งเศส ค.ศ. 1877-1953)[2]

ในปี ค.ศ. 1919 มิโรเดินทางไปปารีส ที่นั่นเองเขาได้พบกับศิลปินรุ่นพี่เชื้อชาติเดียวกันคือปีกัสโซ ซึ่งคบหากันเรื่อยมา มิโรได้รับอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับศิลปะบาศกนิยมผสานกับคตินิยมแบบดั้งเดิม (primitivism) เมื่อมิโรเดินทางกลับไปสเปน เขาพยายามแสวงหาแนวทางการสร้างสรรค์ของตนเอง แต่ก็ยังไม่พบแนวทางของตนเองอย่างแท้จริง ผลงานจิตรกรรมของมิโรในช่วงนี้ยังคงอาศัยรูปทรงธรรมชาติเป็นแนว หากแต่ได้ตัดรูปทรงที่ไม่ต้องการบางส่วนออกไปและเพิ่มเติมสีสันที่แปลกใหม่ตามความรู้สึกของเขาลงไป

ในปี ค.ศ. 1920 มิโรเดินทางไปกรุงปารีสอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้เขาเข้าร่วมกลุ่มกับศิลปินหัวก้าวหน้าในขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ศิลปะคติดาดา (dadaism; dada) กำลังได้รับความสนใจจากศิลปินรุ่นใหม่ ต่อมาลัทธินี้ได้สลายตัวไป เกิดลัทธิเหนือจริง ผู้ก่อตั้งลัทธินี้คือ อ็องเดร เบรอตง (André Breton กวีชาวฝรั่งเศส ค.ศ. 1896-1966) เบรอตงกล่าวว่า ลัทธิเหนือจริงคือสิ่งที่ดำเนินไปเองตามจิตที่บริสุทธิ์ อาจแสดงออกด้วยถ้อยคำและวิธีการอื่น ๆ โดยปราศจากการควบคุมตามกฎเกณฑ์เก่า ๆ ศิลปินด้านทัศนศิลป์ ในลัทธินี้มีหลายคน เช่น ซัลบาโด ดาลี, ฟรานซิส เบคอน (จิตรกรชาวอังกฤษ), มัคส์ แอ็นสท์ (จิตรกรชาวเยอรมัน) โดยกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าซึ่งมีทั้งนักคิด นักเขียน กวี และจิตรกร มิโรสนใจแนวคิดของลัทธิที่เกิดขึ้นใหม่นี้มากเมื่อเขาได้พบกับเบรอตงในกรุงปารีส

ในปี ค.ศ. 1923 เขากระตือรือร้นที่จะสร้างผลงานตามแนวคิดดังกล่าว มิโรจึงได้เข้าร่วมกับกลุ่มดังกล่าว แนวคิดของลัทธิเหนือจริงมีอิทธิพลต่อเขามากถึงกับประกาศว่า เขาจะฆ่าจิตรกรรมแบบเก่าที่เคยทำมาคือสัจนิยมและบาศกนิยม เพื่อหันมาสร้างสรรค์ผลงานแนวใหม่ตามความคิดของเขา เพื่อสะท้อนความคิดฝันและแรงปรารถนาที่ออกมาจากจิตใต้สำนึกอย่างฉับพลันและเป็นอิสระ ผลงานของมิโรสร้างความตื่นเต้นให้กับกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์มาก